วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

Podcast สื่อยุคใหม่



ปัจจุบันนี้เราจะเห็นผู้คนจำนวนหนึ่งในสถานที่ต่างๆ มีอุปกรณ์บางอย่างเสียบอยู่ที่หูอยู่ในระหว่างที่ทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ตลอดเวลา อุปกรณ์ที่ว่านี้อาจจะเป็นหูฟัง Bluetooth ไร้สายสำหรับมือถือ หูฟังสำหรับเครื่องเล่นเพลงพกพาแบบดิจิทัล ที่เรียกกันว่าเครื่องเล่น MP3 ซึ่งมีราคาประมาณ 1,000 กว่าบาทขึ้นไป โดยแตกต่างกันที่คุณสมบัติของความจุ (memory) และคุณลักษณะอื่นๆ เช่น รองรับไฟล์ได้หลายประเภท บันทึกเสียงได้ และรับสัญญาณวิทยุได้ เป็นต้น



ประโยชน์ของเครื่องเล่น MP3 นั้นนอกจากช่วยสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้ใช้ เพราะสามารถพกพาได้สะดวก สามารถหยิบขึ้นมาฟังเพลงโปรดได้ทุกเมื่อแล้ว ก็ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ โดยใช้เป็นเครื่องบันทึกเสียงในการประชุมและอบรมต่างๆ เพราะสามารถบันทึกเสียงได้ในระยะเวลาที่นาน และสามารถส่งไฟล์ที่บันทึกเสียงนั้นเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านทาง USB พอร์ตได้อย่างสะดวก ผู้ใช้ก็สามารถบันทึกการสนทนาเก็บไว้เปิดฟังภายหลังได้ ในขณะที่เทคโนโลยีทางด้านเครื่องเล่น MP3 กำลังพัฒนาไปเรื่อยๆ นั้น เทคโนโลยีทางด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เรามีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงขึ้น ความนิยมในการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงก็มีมากขึ้น เว็บไซต์ต่างๆ สามารถสร้างเนื้อหาที่ซับซ้อนและตรงกับความต้องการของผู้อ่านมากขึ้น ภาพและเสียงที่ส่งผ่านเครือข่ายก็มีคุณภาพที่ดีมากขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากการพัฒนาที่กล่าวไปเมื่อสักครู่แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงในอีกรูปหนึ่งที่สำคัญเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วย โดยผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแต่เพียงผู้ใช้สื่อแต่เพียงอย่างเดียว ได้เปลี่ยนบทบาทของตนเองให้มีส่วนร่วมมากขึ้น สามารถสร้างสื่อของตัวเองแล้วนำมาเสนอให้กับผู้อื่นผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างของการสร้างสื่อส่วนตัวที่ดีอย่างหนึ่งนั้นก็คือ การสร้างบล็อก (blog) ส่วนตัวของตนเองขึ้นมา เพื่อที่จะนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่ตนเองสนใจ ซึ่งบล็อกนั้นทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้อ่าน เพราะผู้อ่านแต่ละคนสามารถที่จะโพสข้อความแสดงความคิดเห็นโต้ตอบกันไปมากับผู้เขียนและผู้อ่านคนอื่นๆ ทั้งนี้ได้มีผู้เชี่ยวชาญการคาดการณ์ไว้ว่าในอนาคตข้างหน้านั้น เราแต่ละคนจะมีบล็อกของตนเอง เช่นเดียวกันกับการที่เรามีอีเมลในปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน พัฒนาการของบล็อกนั้นก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจาก การที่เป็นการเขียนข้อความโต้ตอบกันไปมา เพิ่มมาเป็นการบันทึกเสียงหรือภาพเคลื่อนไหวลงในเว็บไซต์เพิ่มเติมจากการเขียนข้อความ โดยหากเป็นภาพเคลื่อนไหวนั้นมักจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 5 – 10 นาที เพื่อให้ขนาดไฟล์ไม่ใหญ่จนเกินไปจนผู้ดูเกิดความเบื่อหน่ายระหว่างทำการดาวน์โหลด เกิดเป็นคำศัพท์ใหม่เรียกว่า vlog หรือ video blogging ส่วนการบันทึกเสียงแต่เพียงอย่างเดียวนั้นมักจะทำได้ในระยะเวลาที่ยาวนานกว่า เพราะขนาดไฟล์มีขนาดเล็กกว่า






เมื่อได้เสียงและภาพเคลื่อนไหวแล้ว เจ้าของสื่อก็ต้องพยายามให้ผู้อื่นรับรู้สื่อของตน ด้วยการ broadcast ให้ผู้รับสื่อได้ทราบ ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้น Apple เป็นบริษัทหนึ่งที่ผลิตเครื่องเล่นเพลงดิจิตัลแบบพกพา โดยได้ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ของตนเองว่า iPod ซึ่งเป็นที่นิยมมาก จนกระทั่งเกิดคำว่า Podcast ที่เกิดจากการรวมคำว่า iPod และ broadcasting เข้าด้วยกัน แม้ว่าคำว่า Pod ใน Podcast นั้นจะมาจาก iPod ก็ตาม ผู้ที่รับฟังหรือชม Podcast นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องเล่น iPod เลย ก็สามารถที่จะรับ Podcast ได้โดยใช้เครื่องเล่น MP3 ฮาร์ดิสก์แบบพกพา หรือรับ Podcast จากเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ้คโดยตรงก็ได้ เพียงแต่ว่าอาจจะไม่สะดวกในการพกพาเท่านั้นเอง เมื่อ Podcast เป็นที่นิยมมากขึ้นก็มีการรวบรวมให้เป็นหมวดหมู่ จัดทำเป็นไดเรกทอรี และอาศัยเทคโนโลยีของ RSS (Really Simple Syndication) หรือ Atom เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้รับสื่อ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปคอยตรวจสอบว่า มีการเพิ่ม Podcast ใหม่ๆ แล้วหรือไม่ เพราะหลังจากการสมัครเป็นสมาชิกของ Podcast นั้นๆ แล้ว โปรแกรมที่ใช้ในการรับ Podcast ก็จะทำการตรวจสอบและดาวน์โหลด Podcast ใหม่ๆ ให้โดยอัตโนมัติ ตัวอย่างของโปรแกรมรับ Podcast ที่ดีอันหนึ่งได้แก่ โปรแกรม iTune ของบริษัท Apple ที่มีการจัดหมวดหมู่ของ Podcast ตามเนื้อหา ตัวอย่างเช่น News & Politics, Video Podcasts, Sports, Comedy, Music, Technology และ Education เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: