วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

เทคโนโลยีสุดขั้ว สู้วิกฤตมนุษย์ก่อโลกร้อน


ปัจจุบันนี้สิ่งที่ผู้คนทั่วโลกกำลังเผชิญก็คือ ปัญหาภาวะโลกร้อนนั่นเอง ดังนั้นเราจึงนำสาระดีดีเกี่ยวกับเทคโนโลยี ในการแก้ปัญหาโลกร้อนมาฝาก . . .หลังจากใช้เวลาตรวจและวิเคราะห์ข้อมูลความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกอยู่นาน 6 ปีเต็ม ในที่สุด "ไอพีซีซี" ก็เปิดเผยรายงานใหม่ล่าสุดเกี่ยวข้องกับวิกฤต "โลกร้อน" ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต รายงานที่ไอพีซีซีเผยแพร่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นเพียงส่วนแรก ซึ่งพยากรณ์สภาพความเปลี่ยนแปลงของอากาศ จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญ 1,200 คนจาก 40 ประเทศทั่วโลก นอกจากนั้น ยังยืนยันเป็นครั้งแรกว่า ที่มาของวิกฤตการณ์โลกร้อนร้อยละ 90 มาจาก "น้ำมือของมนุษย์" ผ่านการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ควันพิษจากอุตสาหกรรม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสะสมในชั้นบรรยากาศ และการบุกรุกทำลายผืนป่า เป็นหลัก ชายฝั่งจมทะเล ไอพีซีซีประเมินว่า ภายในปีค.ศ.2100 (พ.ศ.2643) หรือเกือบ 100 ปีนับจากวันนี้ อุณหภูมิของโลกมีโอกาสเพิ่มขึ้นระหว่าง 1.1-6.4 องศาเซลเซียส แต่ตัวเลขที่มีความเป็นไปได้สูงสุด คือ 1.8-4.0 องศาเซลเซียส ด้วยอุณหภูมิที่ขยับเดินหน้าขึ้นไปเช่นนั้นจะทำให้ระดับน้ำทะเลของโลกภายในปี 2643 เพิ่มสูงขึ้นระหว่าง 18-59 เซนติเมตร ขณะที่งานวิจัยฉบับก่อนหน้า เคยพยากรณ์ระดับน้ำทะเลว่าอาจเพิ่มขึ้น 140 เซนติเมตร ทำให้พื้นที่ชายฝั่งในวันนี้อาจสูญหายไปได้ ถ้าประชาคมโลกยังไม่มีมาตรการลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศจนอุณหภูมิน้ำทะเลร้อนตามโลกไปด้วย ส่งผลให้ "น้ำแข็ง" และ "ธารน้ำแข็ง" ในแถบกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกละลายอย่างรวดเร็ว ภัยธรรมชาติแรงขึ้น รายงานไอพีซีซี ยังระบุด้วยว่า ก่อนถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ปล่อยไปสู่ชั้นบรรยากาศนั้นมีไม่มากนัก ระดับการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่อันตรายที่สุด ในชั้นบรรยากาศมีประมาณ 280 พีพีเอ็ม… แต่ในปี 2548 พุ่งสูงไปจนถึง 379 พีพีเอ็ม! ภายในศตวรรษ หรือรอบ 100 ปีจากนี้ คาดว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจะทำให้โลกต้องเผชิญกับ "พายุ" ถี่และบ่อยขึ้นกว่าที่ผ่านมา 66 เปอร์เซ็นต์ ภูมิภาคที่ตั้งอยู่ตรงตอนกลาง-ตอนเหนือเส้นศูนย์สูตรจะเจอกับสภาพหิมะและฝนตกหนักมากกว่าเดิม 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภูมิภาคในเขตร้อนจะมีฝนและหิมะตกน้อยลง เทคโนโลยี"สุดขั้ว"สู้โลกร้อน ที่ผ่านมา แนวทางบรรเทาภัยโลกร้อนที่นักวิทยาศาตร์เสนอในระดับทั่วไป ได้แก่ การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลและน้ำมัน อาทิ เทคโนโลยีพลังงานลม พลังแสงอาทิตย์ พลังคลื่น และพลังงานนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม มีนักวิทยาศาสตร์บางคนคิดไปไกลกว่านั้น โดยเสนอแนวทาง "สุดขั้ว" เพื่อสกัดกั้นแสงอาทิตย์จากนอกโลกโดยตรง ซึ่งแต่ละข้อเสนอล้วนมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไป ดังนี้
ปั๊มก๊าซซัลเฟอร์สู่ชั้นบรรยากาศ พอล ครัตเชน นักเคมีวิทยาเจ้าของรางวัลโนเบล เสนอว่า ถ้าเราปล่อยซัลเฟอร์หลายล้านตันออกไปสะสมปกคลุมอยู่ในบรรยากาศโลกชั้นบน จะส่งให้ซัลเฟอร์จำนวนมหาศาลเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนกับกระจกที่ช่วยสะท้อนปริมาณแสงอาทิตย์ที่ตกมาถึงพื้นโลกกลับออกไปในอวกาศได้ราว 1 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้บรรเทาภาวะโลกร้อนได้ระดับหนึ่ง ข้อเสียของแนวคิดนี้ก็คือ จะทำให้ชาวโลกเผชิญกับปัญหาฝนกรดและโรคระบบทางเดินหายใจมากขึ้น ส่ง"ที่บังแดด"คลุมโลก โรเจอร์ แองเจิ้ล นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอริโซนา สหรัฐอเมริกา มองไปไกลยิ่งกว่าครัตเชน โดยเขาเชื่อว่า เราสามารถประดิษฐ์ "เลนส์สะท้อนแสง" ขนาดเล็กจำนวนหลายล้านล้านชิ้นและส่งมันออกไปลอยคว้างอยู่ในวงโคจรโลกเพื่อทำหน้าที่เป็น "ที่บังแดด" คอยสะท้อนแสงอาทิตย์ไม่ให้ตกมาถึงพื้นโลกได้อย่างน้อยๆ 2 เปอร์เซ็นต์ แนวความคิดนี้ดูท่าจะสำเร็จยาก เนื่องจากเฉพาะค่าลงทุนสร้างเลนส์สะท้อนแสงหลายล้านล้านชิ้นและส่งออกไปนอกโลกก็คิดเป็นเงินมโหฬารสูงกว่าล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ห่อหุ้มโลกด้วย"ฝุ่น" เคอร์ติส สตรัก นักดาราศาสตร์มหาวิทยาลัยไอโอวา สหรัฐอเมริกา ตั้งทฤษฎี ว่า มนุษย์สามารถเก็บรวบรวม "ฝุ่นในอวกาศ" ที่เกิดจากดาวหางและฝุ่นบนดวงจันทร์นำมาใช้เป็น "เครื่องกำบัง" บดบังไม่ให้แสงอาทิตย์สาดส่องลงไปยังโลกมนุษย์ได้เดือนละหลายชั่วโมง สตรักเสนอให้นักวิทยาศาสตร์หาทางรวบรวมและกำหนดให้ฝุ่นอวกาศดังกล่าวเกาะกันเป็นก้อนและโคจรรอบๆ โลกคล้ายกับพระจันทร์ โดยเชื่อว่าแนวทางนี้จะลดปริมาณแสงแดดที่ส่องตรงมายังโลกได้เดือนละมากกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ แต้ข้อเสียของทฤษฎีนี้คือฝุ่นอวกาศอาจเสียวงโคจรและพุ่งไปสร้างความเสียหายแก่ดาวเทียม ติดวัสดุสะท้อนแสง นักฟิสิกส์หลายสำนักเสนอให้มีการติดตั้ง "วัสดุสะท้อนแสงอาทิตย์" เอาไว้ตามพื้นผิวประเภทต่างๆ บนโลกเรา เช่น ถนน ทะเลทราย มหาสมุทร ตึกรามบ้านช่อง เพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์กลับออกไปนอกโลกให้มากขึ้น แนวคิดนี้ดูเหมือนมีความเป็นไปได้มากที่สุดในบรรดา 4 ข้อเสนอ แต่ยังต้องศึกษาผลกระทบระยะยาวว่า ถ้าใช้วิธีการนี้แล้วทำให้ปริมาณความร้อนบนผิวโลก รวมถึงในมหาสมุทรลดต่ำลง จะก่อให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนตามมาหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น: